Monday, June 22, 2015

กรมศุลกากร

ภาษีศุลกากร
       คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการนำสินค้าเข้าจากต่างประเทศ หรือส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีนำเข้าเรียกว่า "อากรขาเข้า" และในกรณีส่งออกเรียกว่า "อากรขาออก" โดยจะจัดเก็บตามราคาหรือร้อยละของมูลค่าสินค้า และจัดเก็บตามสภาพของสินค้า ตามปริมาณ น้ำหนัก ความยาว หรือปริมาตร เป็นต้น

       ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่จะต้อง "ชำระอากรขาออก" เพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ ไม้ และหนังโค-กระบือ นอกนั้นอัตราอากรเป็น 0% ทั้งหมด ส่วน "อากรขาเข้า" จัดเก็บตามพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรได้นำระบบฮาร์โมไนซ์มาใช้ในการจัดหมวดหมู่ของสินค้า โดยแบ่งย่อยเป็นหมวด ตอน ประเภท และประเภทย่อย คือแบ่งเป็น 21 หมวด 91 ตอน แต่ละตอนจะประกอบด้วยประเภทและประเภทย่อยแตกต่างกัน ซึ่งการระบุสินค้าตามระบบฮาร์โมไนซ์จะกำหนดเป็นเลข 10 หลัก โดยที่ 7 หลักแรกจะเป็นเลขที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลก ส่วนเลข 3 หลักหลัง เป็นรหัสสถิติที่กำหนดโดยแต่ละประเทศ

ขั้นตอนการปฏิบัติพิธีการนำเข้าสินค้า

1. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนบันทึกข้อมูลบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ทุกรายการเข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของตนเองหรือผ่าน Service Counter โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะแปลงข้อมูลบัญชีราคาสินค้าให้เป็นข้อมูลใบขนสินค้าโดยอัตโนมัติ และให้ผู้นำเข้าหรือตัวแทนส่งเฉพาะข้อมูลใบขนสินค้ามายังเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
2. เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในใบขนสินค้าที่ส่งเข้ามา เช่น ชื่อและที่อยู่ผู้นำของเข้า เลขประจำตัวผู้เสียภาษี พิกัดอัตราศุลกากร ราคา เป็นต้น ถ้าพบว่าข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้าที่ส่งมาไม่ถูกต้อง เครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรจะแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทนเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง
3. เมื่อเครื่องคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากรตรวจสอบข้อมูลในใบขนสินค้าที่ส่งมาถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะออกเลขที่ใบขนสินค้าขาเข้า พร้อมกับตรวจสอบเงื่อนไขต่างๆ ที่กรมศุลกากรกำหนดไว้ เพื่อจัดกลุ่มใบขนสินค้าขาเข้าในขั้นตอนการตรวจสอบพิธีการเป็น 2 ประเภท ดังต่อไปนี้ แล้วแจ้งกลับไปยังผู้นำเข้าหรือตัวแทน เพื่อจัดพิมพ์ใบขนสินค้า ใบขนสินค้าขาเข้าที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์จะสั่งการตรวจ หลังจากนั้น ผู้นำเข้าหรือตัวแทนสามารถนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระค่าภาษีอากรและรับการตรวจปล่อยสินค้าได้ ใบขนสินค้าขาเข้าที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สำหรับใบขนสินค้าประเภทนี้ ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องนำใบขนสินค้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรของท่าที่นำของเข้า
4. ผู้นำเข้าหรือตัวแทนต้องจัดเก็บข้อมูลบัญชีราคาสินค้าตามวรรคแรกในรูปของสื่อคอมพิวเตอร์เป็นเวลา ไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อใช้สำหรับการตรวจสอบใบขนสินค้าหลังการตรวจปล่อย โดยให้สามารถจัดพิมพ์เป็นรายงานเมื่อกรมศุลกากรร้องขอ ดังนี้

  1. 4.1 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY DECLARATION ITEM
  2. 4.2 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST BY INVOICE ITEM
  3. 4.3 IMPORT/EXPORT INVOICE LIST